RPST Success Story : ข้างหลังภาพรางวัลถ้วยเกียรติยศ “ยรรยง โอฬาระชิน” ในโครงการประกวดภาพถ่ายรักษ์เอกรงค์ครั้งที่ 5 ประจำปี 2563
RPST Success Story วันนี้จะพาไปรู้จักกับช่างภาพมือรางวัลระดับประเทศเจ้าของรางวัลถ้วยพระราชทานหลายใบและรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย คุณพลัฏฐ์ ไชยพิทักษ์กูล, Hon.F.RPST มาลองดูกันว่าเบื้องหลังความสำเร็จของการประกวดและการทำงานทางด้านภาพถ่ายมีแนวคิดอะไรที่น่าสนใจ
1. แนะนำตัวกันก่อน
ชื่อ พลัฏฐ์ ไชยพิทักษ์กูล ครับ เป็นสมาชิกตลอดชีพของสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หมายเลขสมาชิก 6666 และยังดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาสมาคม ฯ ในวาระปัจจุบันด้วยครับ จุดเริ่มต้นของผมไม่ได้ศึกษาการถ่ายภาพโดยตรงมาก่อน แต่ได้มีโอกาสตามเพื่อนไปเรียนถ่ายภาพเพิ่มเติมในปี พ.ศ. 2543 ในยุคที่มีแต่กล้องฟิล์ม ทำให้ผมรู้ว่าการถ่ายภาพนั้นมันมีอะไรมากกว่าสิ่งที่ผมคิดทั้งเรื่องการวางองค์ประกอบภาพ และการใช้แสง หลังจากนั้นมาผมก็ได้เริ่มถ่ายภาพอย่างจริงจังในทุกรูปแบบ จนปัจจุบันก็ได้มาทำงานเกี่ยวกับการถ่ายภาพโดยตรง
2. อยากทราบกระบวนการสร้างงานของภาพที่ได้รางวัลนี้ และ มีวิธีเลือกภาพส่งอย่างไร
ต้องทำความรู้จักสิ่งที่เราจะไปถ่ายให้มากที่สุดทุกขั้นตอนทุกจังหวะของการทำงาน เพื่อจะจินตนาการภาพล่วงหน้าก่อนเป็นภาพถ่ายจริงๆ เพราะว่าช่วงเวลาในการถ่ายภาพแต่ละภาพมีช่วงเวลาจำกัดการเตรียมตัวที่ดีก็จะทำให้เรามีโอกาสได้ภาพอย่างที่เราต้องการ พูดง่ายๆ คือต้องทำการบ้านดี ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสถานที่ที่จะไปถ่ายตลอดจนวิถีชีวิตของผู้คนทางสังคมนั้นๆ อะไรที่เราสามารถถ่ายได้ อะไรที่น่าจะเลี่ยง อะไรที่เราสามารถบอกให้ตัวแบบของเราสามารถนำเสนอเพื่อสะท้อนถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นได้มากขึ้น หรืออะไรที่เราจะช่วยเค้าเลี่ยง เป็นต้น
การถ่ายภาพอาจเกิดจากความบังเอิญในการเห็น หรือการจัดถ่ายขึ้นมา หรือเราอาจให้ตัวแบบที่เราถ่ายสาธิต action ต่างๆในเนื้อหาที่เราสนใจ หรืออาจจะต้องพยายามใส่จินตนาการลงไปในองค์ประกอบภาพด้วย ซึ่งตรงนี้จะทำให้ภาพออกมาไม่เหมือนกันและเป็นไปตามสไตล์ของช่างภาพ ที่เหลือจะเป็นเรื่องของเทคนิคเช่นการปรับกล้อง การเลือกใช้เลนส์เพื่อสร้างองค์ประกอบภาพและการเล่นกับพวก depth of field ที่น่าสนใจ
ส่วนขั้นตอนในการเลือกภาพก็ต้องพิจารณาความแปลกใหม่ มุมมอง ความโดดเด่นของแบบ ความคมชัดของภาพ รวมถึงองค์ประกอบทางศิลปะ เช่น เส้นสายแสงเงา เป็นต้น ภาพไม่ควรหลุดไปจากความจริงหากต้องการนำเสนอเรื่องราวในเชิง documentary หรือ อาจจะทำภาพออกมาให้หลุดกรอบไปเลยก็ได้ เวลาส่งภาพถ้าหากเขาให้ส่งได้หลายภาพ (อย่างรายการนี้) ก็ควรลองหลายๆ รูปแบบเทคนิคการสร้างภาพ ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ตอนถ่าย หรือกระบวนการห้องมืดครับ
3. ถ่ายภาพฟิล์มมากี่ปี ความยากง่ายของการถ่ายฟิล์มกับถ่ายดิจิตอลต่างกันไหม ขอ ข้อดี/ข้อเสีย
ผมถ่ายฟิล์มมา 21 ปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 ผมว่าความยากง่ายของการถ่ายฟิล์มและถ่ายดิจิตอลมีความยากง่ายที่แตกต่างกัน
การถ่ายภาพฟิล์มมีข้อดี คือ มิติของภาพและเสน่ห์ในตัวเนื้อฟิล์ม ส่วนข้อเสียของการถ่ายภาพฟิล์มคือ เราไม่สามารถเห็นภาพที่ถ่ายออกมาได้เลย การถ่ายถาพจะมีความยุ่งยากในหลายๆเรื่อง ความไวแสงของฟิล์มจะมีความจำกัด การถ่ายภาพต้องมีความแม่นยำ การจับจังหวะในการถ่าย ความสิ้นเปลือง รวมถึงทุกขั้นตอนกว่าจะได้เป็นภาพๆ หนึ่ง
ส่วนการถ่ายดิจิตอล ก็คือสะดวก สามารถมองหลังกล้องได้เลยว่าจะออกมาเป็นยังไง วัดแสงผิดก็ปรับใหม่เดี๋ยวนั้นได้ แต่ข้อจำกัดคือมันจะมี Dynamic Range ที่น้อยกว่า ต้องแต่งเยอะหากต้องการเปิด Range แสง อย่างไรก็ตามในอนาคตกล้องดิจิตอลก็คงสามารถพัฒนาได้ขึ้นไปอีกเรื่อย ๆ
4. มีคำแนะนำให้กับผู้ที่สนใจในการส่งภาพเข้าประกวดสำหรับการเตรียมตัวอย่างไร
ศึกษาภาพถ่ายที่ได้เคยได้รางวัลว่ามีข้อดี ข้อเสียตรงไหนบ้าง จะทำยังไงให้ชนะใจกรรมการ เตรียมตัวให้ดีที่สุดก่อนไปถ่ายถาพทุกครั้ง เคล็ดลับอย่างนึงของผมคือต้องทำให้แปลกตาและดึงดูดให้กรรมการสนใจภาพเราให้ได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ เพราะนั่นหมายถึงภาพเรามี Impact (ความแรงของภาพ) สูง สิ่งหนึ่งที่จะทำให้ภาพเรามี Impact สูงคือควรเน้นความแปลกใหม่ ยิ่งถ่ายยากๆ แบบที่คนอื่นไม่สามารถถ่ายได้ง่ายเท่าไหร่ เวลากรรมการตัดสินภาพเราจะโดดออกมาเลย
หากมีโอกาสลองออกไปถ่ายรูปกับผู้ที่ประสบการณ์ ไม่ว่าจะเป็นทริปถ่ายภาพ เวลาเราเห็นกระบวนการทำงานของผู้ที่เชี่ยวชาญ เราจะเข้าใจว่าเราจะทำอย่างไรถึงจะไปถึงตรงนั้นได้ครับ
5. ได้เข้าร่วมกิจกรรมอื่นๆ ของสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ บ้างไหม
หลายครั้งครับ จริง ๆ สมัยก่อนผมเคยเป็นกรรมการสมาคม ฯ ในส่วนของการจัด RPST Trip ก็ไปหลายที่ในประเทศร่วมกับสมาชิกสมาคม ฯ อยู่หลายปี แล้วก็ได้เข้าร่วมกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการ Workshop ซึ่งตรงนี้ผมมองว่ามีประโยชน์มาก ได้ทั้งความรู้และความสนุก ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์กับเพื่อน สมาชิก ซึ่งก็สามารถนำไปปรับใช้กับทั้งงานประกวดและงานที่ทำอยู่ปัจจุบันได้เป็นอย่างดีครับ
6. สุดท้ายอยากฝากอะไรกับนักถ่ายภาพ โดยเฉพาะผู้ที่เพิ่งเริ่มถ่ายภาพ หรือ อยากลองประกวดภาพถ่าย
สำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มถ่ายภาพ อยากให้ค่อยๆเป็นค่อยๆไป ลองหาจุดที่เราสนใจจริงๆ แนวทางไหนที่เราทำแล้วรู้สึกชอบก็จงมีความสุขกับตรงนั้น
สำหรับผู้ที่อยากลองประกวดภาพถ่าย อยากฝากว่าทุกคนที่ประสบความสำเร็จก็ต้องเริ่มต้นจากศูนย์กันทุกคน ถ้าเราไม่เริ่มลงมือทำแล้วเมื่อไรจะเป็นวันของเรา
ลองติดตามข่าวสารต่างๆ จากวงการถ่ายภาพ และ การประกวดภาพถ่าย จากเพจของสมาคม ฯ จะมีสนามระดับชาติ และ นานาชาติ ให้นักถ่ายภาพสามารถลองร่วมกิจกรรมได้ บางครั้งเปิดสำหรับบุคคลทั่วไป บางรายการก็สงวนไว้เฉพาะสมาชิกสมาคม ฯ หากมีโอกาสก็ลองส่งไปร่วมโครงการ ฯ กัน แล้วลองศึกษา สังเกต ถึงผลลัพธ์แล้วนำมาวิเคราะห์ปรับใช้กับแนวทางที่ตัวเองชื่นชอบ ที่สำคัญต้องไม่ท้อครับ
เกี่ยวกับโครงการประกวดภาพถ่าย ““รักษ์เอกรงค์ ครั้งที่ 5 ประจําปี 2563”
การจัดประกวดภาพถ่ายโครงการนี้เกิดขึ้นจากคณะกรรมการบริหารสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์มีดําริร่วมกันว่า อาจารย์ยรรยง โอฬาระชิน เป็นนักถ่ายภาพอาวุโส ผู้มีคุณูปการแก่วงการถ่ายภาพของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่าย) ประจําปีพุทธศักราช 2550 และ ดํารงตําแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิของสมาคมฯ จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติอาจารย์ยรรยง โอฬาระชิน คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้จัดการประกวดภาพถ่ายชิงถ้วยรางวัลศิลปินแห่งขาติ “ยรรยง โอฬาระชิน” ขึ้น โดยสมาคมฯ มีความตั้งใจที่จะจัดโครงการประกวดดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเป็นประจําทุกปีเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมผู้ที่รักการถ่ายภาพในแนวทางนี้ ให้มีเวทีประกวดเป็นการเฉพาะ และเพื่อสร้างกําลังใจให้แก่กลุ่มช่างภาพที่สนใจและยังคงมุ่งมั่นพัฒนาผลงานในการถ่ายภาพด้วยฟิล์มขาวดํารวมถึงการเรียนรู้และฝึกฝนเทคนิคการล้างอัดภาพจากฟิล์มขาวดําเพื่อไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา
ผู้มีสิทธิ์ส่งภาพเข้าร่วมประกวด :
เฉพาะสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เท่านั้น
ชมภาพที่ได้รางวัลทั้งหมดได้ที่นี่ :
http://www.rpst.or.th/monochrome-2563-winners-announcement/