Hall of Frame
รัตน์ เปสตันยี
นายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยคนแรก ในปีพ.ศ.2502-2503

รัตน์ เปสตันยี เป็นนายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยคนแรก ในปีพ.ศ.2502-2503 ด้วยคะแนนนิยมจากบรรดาสมาชิกในที่ประชุมใหญ่ ดำรงตำแหน่งต่อมาหลายสมัยในปีพ.ศ.2505-2506, 2509 และ 2512เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2502 ภายหลังจากที่ได้ก่อตั้งสมาคมฯ ได้เพียงปีเดียว รัตน์และทางผู้บริหารสมาคมฯ ชุดนี้ ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ให้ทรงรับสมาคมฯ เข้าอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์

รัตน์ เปสตันยี เกิดที่ถนนรองเมือง จังหวัดพระนครหรือกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2451 ซึ่งตรงกับปีวอก (หนุมาน) เป็นบุตรของ นางเล็ก เปสตันยี และ นางเจอราไม เปสตันยี บรรพบุรุษมาจากเมืองเตหะราน(เปอร์เซีย) ซึ่งได้มาทำการค้าขายอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลาร้อยกว่าปีมาแล้ว

ได้รับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ จนสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้วจึงได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศอินเดียและอังกฤษ จนสำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรีในสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล จากมหาวิทยาลัยลอนดอน ในปีพ.ศ.2475 ตลอดเวลาที่ศึกษาอยู่ที่ต่างประเทศ รัตน์ได้ใช้เวลาว่างไปในทางฝึกฝนหาความรู้ความชำนาญในการถ่ายภาพต่างๆ และได้ส่งภาพเข้าประกวดจนได้รับรางวัลอยู่บ่อยๆ แม้จะอยู่ในวัยเพียง 14 ปี ก็สามารถส่งภาพเข้าประกวดจนได้รับรางวัลขณะที่ศึกษาอยู่ที่ประเทศอินเดีย ฝีมือการถ่ายภาพของเขาเป็นที่ยกย่องกันทั่วไป เขามีความสนใจในการซ่อมกล้องถ่ายรูปชนิดต่างๆตั้งแต่เยาวว์วัย จนเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้บิดาของเขาส่งไปเรียนวิชาวิศวกรรมที่อังกฤษ

ภาพยนตร์เรื่องแรกที่รัตน์ เปสตันยี สร้างขึ้นเป็นภาพยนตร์เรื่องสั้นคือ เรื่อง แตง ซึ่งเป็นเรื่องชีวิตของเด็กหญิงไทยคนหนึ่ง และได้ส่งภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าประกวดในงานศิลปกรรมภาพยนตร์ประเภทสมัครเล่น ที่เมืองกลาสโกล์ ประเทศอังกฤษ ชนะการประกวดและได้รับรางวัลจากอัลเฟรด ฮิทช์ค๊อก ในปีพ.ศ.2480 ภาพยนตร์สมัครเล่นอีกเรื่องหนึ่งที่เขาได้ส่งไปประกวดที่งานมหกรรมโลกที่นิวยอร์คคือเรื่อง เรือใบสีขาวในปีพ.ศ.2482 ได้รับประกาศนียบัตรเป็นรางวัลในการประกวดครั้งนี้

ก่อนจะเริ่มมีอาชีพถ่ายทำภาพยนตร์ รัตน์เคยทำงานที่บริษัทนายเลิศและดีทแฮล์ม เป็นเวลานานถึง 13 ปี รัตน์เริ่มต้นอาชีพทางด้านการถ่ายทำภาพยนตร์ด้วยการเป็นมือกล้องเรื่อง พันท้ายนรสิงห์ ของพระเจ้าวรวงค์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล และต่อมาได้ทำภาพยนตร์ของเขาเอง เรื่อง ตุ๊กตาจ๋า เมื่อพบว่าประสบความสำเร็จเขาก็ตัดสินใจสร้างโรงถ่ายภาพยนตร์ขึ้นที่ถนนวิทยุ พระนคร โดยให้ชื่อว่า บริษัทหนุมานภาพยนตร์ ภาพยนตร์ที่ทำขึ้นในนามของหนุมานภาพยนตร์คือ สันติ-วีณา ซึ่งได้รับรางวัลเอก 3 รางวัลใหญ่ คือ ในการถ่ายภาพ, การกำกับศิลป์และการเผยแพร่วัฒนธรรมไทย จากการประกวดภาพยนตร์อาเซียนอาคเนย์ ณ กรุงโตเกียว เมื่อปีพ.ศ.2497 หลังจากนั้นได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง ชั่วฟ้า-ดินสลาย, โรงแรมนรก, แพรดำ, น้ำตาลไม่หวาน และสร้างภาพยนตร์สารคดีให้กรมศิลปากร คือเรื่องนิ้วเพชรไทยแลนด์ และธรรมจักร(ภาพยนตร์สารคดีที่ทำให้กรมศิลปากรได้รับรางวัลพิเศษ จากการประกวดภาพยนตร์นานาชาติที่ชิคาโก สหรัฐอเมริกาในปีพ.ศ.2510) นอกจากการถ่ายทำภาพยนตร์แล้ว เขาเคยเป็นนายกสมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทยและนายกสโมสรไลอ้อนส์(กรุงเทพฯ)

รัตน์เคยเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาการถ่ายภาพเทคนิค ที่มหาวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ แผนกวิชาช่างภาพ ทำหน้าที่บรรยายวิชาการถ่ายภาพยนตร์และศิลปะการถ่ายภาพ เป็นเวลาประมาณ 8 ปี ผลงานชิ้นสุดท้ายของรัตน์ ก่อนที่เขาจะถึงแก่กรรม คือ การทำภาพนิ่งซึ่งต้องใช้เทคนิคพิเศษเรียกว่า ภาพโบรมอยล์ (Bromoil) ซึ่งเป็นการใช้สีผงมาแทนที่ในน้ำหนักของเกลือเงิน ภาพเหล่านี้จะต้องใช้เวลาทำนานและต้องใช้ความละเอียดปราณีตเป็นพิเศษ ภาพโบรมอยล์มีคุณสมบัติพิเศษคืออยู่คงทนเก็บไว้ได้นานนับร้อยปีโดยไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆเกิดขึ้นกับภาพ เขาได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจทั้งกำลังสติปัญญาและทุนทรัพย์ให้กับวงการช่างภาพอย่างจริงจัง

ภาพประกอบ
กดรูปเพื่อขยาย

Portrait สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ ดาราภาพยนตร์

Still Life

Still Life2

โอ่ง1

ใต้เงาศาสนา

กงล้อชีวิต

นักถ่ายภาพใต้หวัน