Photo Contest & Gallery
การประกวดและแกลลอรี่
Mar 01, 2024
โครงการประกวดภาพถ่าย ประเพณี 12 เดือน ร้อยมุมมองวิถีไทย ซีซั่น 3

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กำหนดจัดประกวดภาพถ่าย “ประเพณี 12 เดือน ร้อยมุมมองวิถีไทย” ซีซั่น 3 ชิงเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 115,000 บาทโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมภาพถ่ายประเพณีและเทศกาลทั่วประเทศที่มีคุณภาพ สวยงาม และภาพที่ได้จากการประกวดสามารถนำมาใช้เป็นสื่อประชาสัมพันธ์ในการร่วมอนุรักษ์ สืบสาน มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ เพื่อให้คนในประเทศได้ร่วมภาคภูมิใจ อีกทั้งเป็นการเผยแพร่คุณค่าสาระความงดงามของประเพณีไทย สู่นานาชาติได้เป็นอย่างดียิ่งต่อไป

ภาพที่ส่งประกวดต้องเป็นภาพที่บันทึกในช่วงเวลาระหว่างเดือนมกราคม เดือนมีนาคม ของปี 2566 หรือ 2567 โดยต้องเป็นภาพที่เกิดขึ้นในประเพณีตามรายชื่อที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมกำหนดดังนี้

✨ประเพณีสงกรานต์ ทั่วประเทศ

✨การแข่งขันวัวเทียมเกวียน จ.เพชรบุรี

✨ประเพณีแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์

✨ประเพณีแห่นกบุหรงซีงอ ภาคใต้

✨งานนมัสการองค์พระธาตุพนม จ.นครพนม

✨ประเพณีปีใหม่ชาวไทยภูเขา ภาคเหนือ

✨ประเพณีบุญคูณลาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

✨ประเพณีแห่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว จ.ปัตตานี

✨ประเพณีหกเป็งนมัสการพระมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง วัดพระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน

✨เทศกาลมรดกโลกบ้านเชียง จ.อุดรธานี

✨ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอกวันมาฆบูชา จ.ยโสธร

✨เทศกาลเมืองครามสกลนคร จ.สกลนคร

✨เทศกาลตามรอยอารยธรรมขอมโบราณปราสาทศิลา “สด๊กก๊อกธม” จ.สระแก้ว

✨ประเพณีแห่ผ้าพระบฏพระราชทานถวายพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช

✨เทศกาลโคราชเมืองศิลปะ จ.นครราชสีมา

✨ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ ห่มองค์พระ ทั่วประเทศ

✨ประเพณีเกี่ยวกับการทำขวัญข้าว ทั่วประเทศ

เปิดรับภาพตั้งแต่วันนี้ พร้อมขยายเวลาเปิดรับภาพถึงวันที่ 25 เมษายน 2567

ในโอกาสที่องค์การยูเนสโกประกาศให้ ประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทย เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ 

รางวัลประจำครั้ง

  • รางวัลชนะเลิศ เงินรางวัล 40,000 บาท พร้อมโล่รางวัลจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
  • รางวัลดีเด่น จำนวน 15 รางวัล เงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมเกียรติบัตรจากส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

กติกาการส่งภาพเข้าประกวด “ประเพณี 12 เดือน ร้อยมุมมองวิถีไทย” ซีซั่น 3

ภาพที่ส่งประกวดต้องเป็นภาพที่บันทึกในช่วงเวลาระหว่างเดือนมกราคม เดือนมีนาคม ของปี 2566 หรือ 2567 โดยต้องเป็นภาพที่เกิดขึ้นในประเพณีตามรายชื่อที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมกำหนด

หลักเกณฑ์การส่งภาพประกวด ดังนี้

1. ผู้สมัคร เป็นผู้ที่มีสัญชาติไทย และมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย ไม่จำกัดเพศ ไม่จำกัดอายุ

2. ผู้สมัคร 1 คน มีสิทธิ์ส่งภาพเข้าประกวดไม่เกิน 10 ผลงาน

3. ผู้สมัครต้องทำการกรอกข้อมูลในแบบฟอร์มการสมัครที่กำหนด และข้อมูลเกี่ยวกับภาพให้ครบถ้วนและต้องตรวจสอบความถูกต้องด้วยตัวเอง มิฉะนั้นอาจไม่ได้รับการพิจารณาภาพถ่ายที่ส่งเข้าประกวด

4. ภาพถ่ายที่ส่งเข้าประกวด ต้องเป็นภาพถ่ายที่ถ่ายด้วยตนเอง ไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่น

5. ภาพถ่ายที่ส่งเข้าประกวด จะต้องถ่ายทอด สาระ คุณค่า มรดกทางภูมิปัญญาอันดีงามของประเพณีและเทศกาลนั้น ๆ

6. ภาพถ่ายที่ส่งเข้าประกวด ต้องเป็นไฟล์ภาพสี แนวนอนหรือแนวตั้งก็ได้

7. สามารถใช้กล้อง Digital ในทุกรูปแบบ (DSLR, Mirrorless, Compact, Action Camera, Tablet, Smartphone และ Drone) หรือกล้องบรรจุฟิล์ม

8. ในกรณีที่ใช้ Drone ถ่ายภาพ เจ้าของผลงานต้องเตรียมนำหลักฐานมายื่นเพิ่มเติมดังนี้

8.1 “ต้องมี” หนังสือการขึ้นทะเบียนผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน ออกโดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย

8.2 “ต้องมี” ใบรับรองการขึ้นทะเบียนเครื่องวิทยุคมนาคมสําหรับอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินสําหรับใช้งานเป็นการทั่วไป (โดรน) ออกโดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

8.3 “ต้องมี” เอกสารการประกันภัยความรับผิดตามฎหมายต่อบุคคลภายนอกจากอากาศยานที่ไม่มีนักบิน ประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก (Drone Liability Insurance)

8.4 ในกรณีทำการบินในพื้นที่หวงห้าม หรือทำการบินสูงเกิน 90 เมตร หรือ ขึ้นบินระหว่าง 18.00 น. – 06.00 น. ต้องนำหลักฐานการอนุญาตให้ทำการบิน เช่นหนังสืออนุญาตที่ออกโดยหน่วยงานราชการ หรือ เจ้าของพื้นที่มาแสดง หรือ ต้องสามารถชี้แจงได้

9. ไฟล์ภาพจากกล้อง DSLR, Mirrorless และ Compact ต้องมี “ขนาดด้านสั้นที่สุดต้องไม่ต่ำกว่า 2,4000pixels” และ “ขนาดด้านยาวที่สุดต้องไม่เกินกว่า 4,000 pixels” ในรูปแบบไฟล์ .jpgหรือ .jpeg เท่านั้น และควรต้องรักษาไฟล์ RAW ไว้แสดงในกรณีมีการเรียกตรวจสอบ

10. ไฟล์ภาพจากกล้อง Action Camera, Tablet, Smartphone, หรือ Drone ควรมีขนาดไฟล์ที่ใหญ่และมีคุณภาพเท่าที่อุปกรณ์นั้น ๆ จะสามารถทำได้ในรูปแบบไฟล์ .jpg หรือ .jpeg เท่านั้นและควรต้องรักษาไฟล์ RAW ก่อนการปรับแต่งและภาพหลังการแต่งแล้ว ในความละเอียดสูงไว้แสดงในกรณีมีการเรียกตรวจสอบ

11. ในกรณีที่ใช้กล้องบรรจุฟิล์มจะต้องนำฟิล์มไปสแกนเป็นไฟล์ภาพดิจิตอลที่มี “ขนาดด้านสั้นที่สุดต้องไม่ต่ำกว่า 2,400 pixels” และ “ขนาดด้านยาวที่สุดต้องไม่เกินกว่า 4,000 pixels” ในรูปแบบไฟล์ .jpg หรือ .jpeg เท่านั้น และควรต้องรักษาฟิล์มต้นฉบับไว้แสดงในกรณีมีการเรียกตรวจสอบ

12. ในกรณีที่ภาพถ่ายเป็นรูปแบบ Panorama จะต้องมีขนาดด้านยาวสุดไม่เกิน 4,000 pixels และต้องรักษาไฟล์ภาพต้นฉบับก่อนการปรับแต่งและภาพหลังการแต่งแล้ว ในความละเอียดสูงไว้ ไว้แสดงในกรณีมีการเรียกตรวจสอบ

13. สำหรับภาพที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย ทางคณะผู้จัดโครงการฯ อาจทำการเรียกขอ File ขนาดใหญ่สุดเพิ่มเติม

14. ภาพที่ส่งเข้าประกวดต้องไม่มีลายน้ำ เครดิตภาพ ตัวอักษร หรือกราฟิกใด ๆ ลงบนภาพ รวมทั้งห้ามเว้นขอบภาพเป็นสีขาวหรือสีใด ๆ

15. สามารถปรับแต่งภาพถ่ายได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการตัดสิน

16. ภาพถ่ายที่ส่งเข้าประกวดต้องไม่เคยได้รับรางวัลจากการประกวดใดๆ มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการประกวดในเวทีสาธารณะ หรือการประกวดภายในของสมาคม ชมรม หรือองค์กรอื่นใด

17. ภาพถ่ายที่ส่งเข้าประกวดต้องไม่มีข้อผูกมัดในเรื่องกรรมสิทธิ์ภาพจากหน่วยงานต่าง ๆ รวมไปถึงต้องไม่ใช่ภาพที่ส่งขายตาม Stock Photo ทุกแห่ง ทั้งนี้คณะผู้จัดงานจะไม่รับผิดชอบเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ที่เจ้าของผลงานมีสัญญาผูกพันต่อบุคคลหรือหน่วยงานใดๆ ซึ่งเจ้าของผลงานต้องเป็นผู้รับผิดชอบในกรณีนี้เอง

18. ไฟล์ภาพถ่ายทุกไฟล์ที่ส่งเข้าประกวด กรมส่งเสริมวัฒนธรรมจะไม่ส่งคืนให้ผู้เข้าร่วมประกวด และไฟล์ภาพดังกล่าวจะเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม แต่ลิขสิทธิ์ของภาพยังคงเป็นของเจ้าของภาพอย่างสมบูรณ์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรมมีสิทธินำภาพถ่ายทุกภาพที่ส่งเข้าประกวดไปใช้ในการเผยแพร่เพื่อประโยชน์ของทางราชการ โดยไม่มุ่งหวังผลทางการค้า ผ่านสื่อต่าง ๆ อาทิ สื่อโซเชียลมีเดีย สื่อออนไลน์ เว็บไซต์ การแสดงนิทรรศการ รวมถึงสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ โดยไม่ต้องแจ้งให้เจ้าของภาพทราบล่วงหน้า และไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์แก่เจ้าของภาพ ทั้งนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ให้ความสำคัญกับการประกาศความเป็นตัวตนของเจ้าของผลงานและจะระบุชื่อเจ้าของผลงานให้ในทุกกรณีที่สามารถทำได้เมื่อมีการนำภาพถ่ายไปใช้

19. หากปรากฏว่าภาพที่เข้าประกวดไม่เป็นไปตามกติกาข้อใดข้อหนึ่งที่กำหนดไว้ข้างต้น ผู้ส่งภาพเข้าประกวด ไม่มีสิทธิ์อ้างว่ากระทำผิดเพราะอ่านกติกาไม่ครบถ้วนคณะกรรมการฯ มีอำนาจในการตัดสินผู้ที่ส่งภาพเข้าประกวด และการตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุด ผู้ส่งภาพเข้าประกวดไม่มีสิทธิ์อุทธรณ์ใดๆ ทั้งสิ้น

20. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดและเงื่อนไข รวมทั้งของรางวัลโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

21. ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดมีหน้าที่รับผิดชอบในการอ่านและทำความเข้าใจกับกฎระเบียบและเงื่อนไขต่างๆของโครงการฯ อย่างละเอียดและครบถ้วนทุกประการ หากกระทำผิดกฎระเบียบและเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งข้างต้น คณะผู้จัดการประกวดมีสิทธิ์ในการพิจารณาถึงการให้เข้าร่วมประกวด หรือ อาจมีการติดต่อไปในรายบุคคลหากต้องการขอข้อมูลเพิ่ม หรือ อาจทำการตัดสิทธิ์และเรียกคืนรางวัลในภายหลังได้

22. คณะผู้จัดการประกวดจะไม่รับผิดชอบเรื่องการละเมิดกฎหมายใดๆ อันเจ้าของผลงานได้กระทำเพื่อจะได้ภาพที่ส่งเข้าร่วมประกวดในรายการนี้ซึ่งเจ้าของผลงานต้องเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว

23. บุคลากรในสังกัดกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และ คณะกรรมการตัดสิน ไม่มีสิทธิ์ร่วมส่งภาพถ่ายเข้าประกวดในครั้งนี้

24. การตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุด

 

 

ส่งภาพประกวดได้ที่ เว็บไซต์สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (www.rpst.or.th)

หมายเหตุ

  • วันเวลาอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสมโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : RPST.info@gmail.com

 

ภาพประกอบ/ผลการประกวด
กดรูปเพื่อขยาย